ตอนก่อนหน้า: Data 4.0 (ภาค 1)

ทักทายตัวเองและชาวโลกอีกครั้งฮะ

ภาคนี้ จะขอเล่าถึงภาพรวมกว้างๆ ว่าข้อมูลในสมัยนี้เอาไปทำอะไรกันบ้าง แล้วมีใครทำหน้าที่อะไรในเส้นทางของข้อมูลนี้ฮะ

คนเอาข้อมูลไปทำอะไร?

แน่นอนฮะ เอาไปหาเงินสิ (ฮา) คือ แนวทางการหาเงินสมัยก่อน จะประมาณว่า ถ้าเป็นข้าราชการ อาจจะเก็บข้อมูลสำมะโนประชากร เพื่อวางแผนออกแบบสังคม นโยบาย ระบบภาษี ซึ่งมันเป็นระดับมหภาค หรือถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้า ก็มีสมุดประจำตัวเอาไว้ จดรายชื่อลูกค้า คนไหนจ่ายตรง คนไหนค้างบ่อย เจ้าไหนให้เครดิตซื้อของดี จะได้วางแผนถูกว่าอนาคตจะผูกสัมพันธ์กับใคร จะมีโปรโมชันอะไร หรือให้ใครแปะโป้ง ติดเครดิตซื้อของของเราได้

แต่ในสมัยนี้ แค่ข้อมูลแบนๆ ด้านเดียวคงไม่พอแล้ว เพราะลูกค้าเองก็มีตัวเลือกให้ซื้อ อยากได้น้ำยาล้างจานก็มีเป็นร้อยยี่ห้อ อยากได้ข้าวเหนียวไก่ย่างก็มีทางเลือกเป็นพันร้าน แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

Know Your Customers (KYC)

ref: https://pixabay.com/images/id-3460039/

Know Your Customers หรือ KYC เป็นคำศัพท์ของการทำระบบข้อมูลลูกค้า ซึ่งแรกๆ ก็ใช้ในระบบธนาคาร เพื่อป้องกันปัญหาการเงินแหละฮะ คนเปิดบัญชีเป็นใคร มาจากไหน ข้อมูลถูกต้องมั้ย แต่ต่อมาก็ใช้ในแพร่หลายในธุรกิจต่างๆ เพราะถ้าเรารู้จักลูกค้าเราดีพอ เราจะสามารถเสนอสินค้า หรือบริการที่ลูกค้าปฏิเสธได้ยากไงล่ะฮะ นี่แหละ ข้อมูลที่สร้างเงินให้เราได้

จำเป็นต้องรู้ข้อมูลลูกค้าอะไรบ้าง?

ต้องบอกว่า ข้อมูลที่เราจะเก็บนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราทำธุรกิจอะไร แล้วต้องอาศัยข้อมูลจากลูกค้าเรื่องอะไรฮะ ตัวอย่างเช่น สมมติเราเป็นเจ้าของร้านไก่ย่าง เราอาจจำเป็นต้องรู้ข้อมูลพวกนี้

  • ถ้าเราทำระบบส่งไก่ย่างเดลิเวอรี่ น่าจะควรรู้ข้อมูลที่อยู่ลูกค้า
  • ถ้าเรามีระบบส่งโปรโมชันผ่าน SMS หรือ email น่าจะควรรู้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ หรือ email ของลูกค้า
  • ถ้าเปิดให้สั่งไก่ย่างผ่าน social media น่าจะควรรู้ชื่อบัญชี social media

มีใครบ้างในเส้นทางการเก็บข้อมูลนี้

ถ้าในธุรกิจขนาดเล็ก คนดูแลข้อมูลอาจจะมีไม่กี่คนก็ได้ฮะ แต่ถ้าในองค์กรใหญ่ๆ จะแบ่งคร่าวๆ ได้สี่กลุ่ม ได้แก่

  1. Data Engineer หรือวิศวกรข้อมูล ทำหน้าที่ลำเลียงข้อมูลเข้ามา ดูแล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล วางแผนการใช้ทรัพยากรขององค์กรในเรื่องการดูแลข้อมูล สร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่มี และบ่อยมากๆ ที่จะต้องเขียนโปรแกรมเพื่อจัดการงานที่ว่ามาฮะ
  2. Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เชี่ยวชาญเรื่องการแปรธาตุข้อมูลที่ได้มาจาก Data Engineer ให้สามารถใช้งานในแต่ละงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนกลุ่มนี้ต้องใช้ความรู้เรื่องสถิติ คณิตศาสตร์ และมีโปรแกรมมิ่งอยู่บ้างฮะ
  3. Data Analyst หรือนักวิเคราะห์ข้อมูล คนพวกนี้จะมีความชำนาญเฉพาะด้าน จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถามเชิงธุรกิจ เช่น แนวโน้มของลูกค้าที่จะสั่งไก่ย่างมากกว่าสองตัว หรือ คาดการณ์จำนวนข้าวเหนียวที่จะขายได้ในวันพุธ อะไรทำนองนี้ฮะ
  4. Business Intelligence Developer เรียกย่อๆว่า BI ฮะ เนื้องานหลักของเค้าจะเน้นการนำเสนอข้อมูลฮะ เช่น กราฟจำนวนลูกค้าที่สั่งไก่ย่าง ข้าวเหนียว และส้มตำในช่วงสามสิบวันที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างให้คนข้างนอก เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบัญชี ฝ่ายผลิตภัณฑ์เข้าใจว่า ตอนนี้สถานการณ์ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร นั่นเองฮะ

คราวหน้า เราจะมาดูกันว่า ข้อมูลจริงๆของลูกค้าเนี่ย มีเรื่องอะไรกันบ้าง และอะไรบ้างที่เราต้องดูแลในฐานะลูกค้า และฝั่งเจ้าของธุรกิจนะฮะ

ตอนต่อไป: Data 4.0 (ภาค 3)