จำได้ว่าเคยเล่าไปในบล็อกสักครั้งนึงว่า Data visualization มีความสำคัญ เพราะถ้าได้ข้อมูลดีๆ มา แต่นำเสนอออกมาไม่น่าสนใจ ก็กลายเป็นว่าข้อมูลให้ประโยชน์น้อยลงไปเลย

Tool สำหรับการทำ Data visualization มีหลายเจ้ามาก ตลาดนี้ค่อนข้างใหญ่ เพราะทุกธุรกิจย่อมต้องการการวางแผน ซึ่งการวางแผนจะต้องพึ่งข้อมูล ทำให้การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่ายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยฮะ ส่วนใหญ่จะเป็น dashboard หรือกระดานที่นำเสนอข้อมูลครบ จบในแผ่นเดียว

เอาล่ะ ตัว Tool ที่ผมรู้จักและเคยได้ยินชื่อหลักๆ ก็คือ Tableau อันนี้เจ้าใหญ่เลยล่ะ เคยใช้งานมาบ้าง ยอมรับเลยว่าดีจริง แต่ค่า License ไม่ใช่น้อย ถัดมาคือ Qlik Sense ได้ยินแต่ชื่อ เพราะ BI (Business Intelligence) ที่ทำงานด้วย เขาเคยใช้มาก่อน กับ Microsoft Power BI ที่เคยไปแตะๆ นิดหน่อย และอีกตัวนึงคือตัวฟรีที่จะมาเล่ากันในบล็อกนี้ นั่นคือ

Google Data Studio

Source: https://medium.com/swlh/how-to-use-google-analytics-and-google-data-studio-to-understand-your-customer-behaviors-e99200454f2

ขอเล่าอีกนิดนึง คือ ผมใช้งานเจ้าตัวนี้มาตั้งแต่ทำงานเป็น Data engineer แล้วล่ะฮะ ตั้งแต่มันยังเป็น beta version อยู่เลยมั้ง พอใช้งานได้ แต่ฟีเจอร์น้อยจนแรกๆ ยังเอางานไปเกาะกับ Tableau อยู่ จนมาถึงตอนนี้ที่มันมีฟีเจอร์เยอะขึ้น (แต่ก็ไม่ได้ใช้หมดหรอก) ถึงได้ใช้มันเป็นเครื่องมือหลักฮะ

แม้ว่ามันจะไม่มีฟีเจอร์เท่า Tableau ก็ตาม แต่ถ้าเป็น dashboard ง่ายๆ นี่ เราสามารถทำเสร็จภายในสามนาทีได้เลยนะ ประกอบกับการที่มันไม่คิดเงินตอนสร้างเนี่ย เลยเป็นตัวเลือกที่ดูดีสำหรับงานผมเลยล่ะฮะ

งั้นเราไปดูวิธีการกัน

ใช้ Gmail

Google Data Studio เป็นของ Google นะฮะ และการจะใช้งานก็แค่เราสามารถ login Gmail ได้ก็พอฮะ

เข้าเว็บเพื่อเริ่มใช้งาน

เราจะเข้าหน้าแรกของ Data Studio ตามลิงก์นี้ฮะ https://datastudio.google.com/overview กดที่ “USE IT FOR FREE” แล้ว login ด้วย Gmail ของเราฮะ

สร้าง dashboard ชิ้นแรก

เมื่อ login สำเร็จ เราจะเจอหน้านี้ก่อนเลยฮะ มันจะแสดง dashboard ทั้งหมดที่เราสามารถเข้าถึงได้ ทั้งที่เป็น dashboard ที่เราสร้างเอง หรือเพื่อน share มาให้ก็จะรวมในหน้านี้ฮะ

ก่อนอื่นต้องอธิบายกันนิดนึง Data studio จะมอง dashboard เป็นสองส่วนฮะ

  1. Reports
    มันคือหน้ากระดาษที่เอาไว้แสดงผล ประกอบด้วยกราฟ รูป ข้อความต่างๆ
  2. Data sources
    เป็นข้อมูลเบื้องหลังที่เราจะเอาไว้แสดงค่ามันบน Reports ฮะ

ซึ่ง Data studio จะให้เรากำหนด Data source ก่อนแล้วหลังจากนั้น มันจะให้เราออกแบบ Reports โดยอ้างอิงกับข้อมูลใน Data source นั้นฮะ

ตรงนี้ เรากดปุ่ม Create ทางซ้ายได้เลยฮะ ถ้าเข้ามาครั้งแรก อาจจะเจอหน้า Terms and Conditions ก็อ่านและยอมรับเพื่อใช้งานต่อ แล้วกด Create อีกรอบฮะ แล้วเลือก Report

เตรียม Data source

ถึงเราจะกดสร้าง Report แต่มันก็จะให้เราเลือก Data source ก่อนนะฮะ

Data Studio รองรับ data source จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น Google Sheets, Google BigQuery, Google Analytics รวมไปถึงพันธมิตรของ Google นะฮะ แต่ครั้งนี้ผมจะโชว์การทำ dashboard จากข้อมูลใน Google Sheets นะฮะ

และนี่จะเป็นตัวอย่างข้อมูลใน Google Sheets ที่เตรียมเอาไว้นะฮะ

เมื่อกดเลือก data source เป็น Google Sheets แล้ว เราจะต้องกดปุ่ม Authorize ให้ Data studio สามารถเข้าถึงไฟล์ใน Google Drive ของเราก่อนนะฮะ เมื่อให้สิทธิแล้ว เราก็เลือก sheet ที่เราต้องการ รวมไปถึง cell ที่ต้องการแสดงใน dashboard ได้เช่นกันฮะ

ตรงขวาบน จะเห็นคำว่า “Data credentials: Owner” หมายถึง Dashboard นี้จะเข้าถึง data source โดยใช้สิทธิของคนสร้าง นั่นก็คือเรา ถ้าผมแชร์ไปให้เพื่อนแต่เพื่อนไม่มีสิทธิเข้าดูไฟล์บน Google Drive ของผม เค้าก็ยังดู dashboard ได้ฮะ แต่ถ้าเรากดตรงนั้นแล้วเปลี่ยนเป็น “Viewer” แปลว่า เพื่อนผมจะไม่สามารถดู dashboard ได้จนกว่าเค้าจะมีสิทธิเข้าถึงไฟล์นั้นฮะ

เมื่อเสร็จแล้ว กดปุ่ม Add และจะมีหน้าจอให้ยืนยันการเพิ่ม data source ก็เลือก Add to report ไปฮะ

เตรียม report

นี่คือผลลัพท์แรกสุด หลังจากที่เรากด Add to report ฮะ

  1. pages
    ถ้ามีหลายหน้าก็กดเพิ่มตรงนี้ได้เลย
  2. charts
    ถ้ามีหลาย chart หลายกราฟ ก็กดเพิ่มตรงนี้
  3. filters
    ถ้าต้องการให้ user เลือก filter ค่าแต่ละอย่างก็กดเพิ่มตรงนี้ได้ฮะ
  4. others
    ถ้าอยากเพิ่มข้อความ เส้นหรือรูปอื่นๆ ก็เพิ่มตรงนี้
  5. add data source
    ถ้ามี data source อื่นๆ มาอยู่ใน dashboard ตัวเดียวกันนี้ ก็เพิ่มตรงนี้ฮะ
  6. theme settings
    ถ้าอยากเปลี่ยนธีม จากสีขาวๆ ธรรมดาๆ เป็นสีซีเปีย หรือเน้นดำคุมโทนก็ปรับตรงนี้
  7. chart types
    เมื่อเลือก chart แล้ว เราสามารถเปลี่ยนประเภทของ chart ตรงนี้ฮะ
  8. data settings
    เมื่อเราจิ้มเลือก chart ตรงนี้จะเป็นส่วนที่ปรับแต่งการแสดงข้อมูลของ chart นั้นฮะ
    • Date range dimension
      ถ้าต้องนำเสนอข้อมูลที่อ้างอิงวันที่ ก็ระบุ field วันที่ตรงนี้ฮะ
    • Dimension
      กำหนด Dimension คือ field ที่เป็นหมวดหมู่ เช่น ถ้าต้องการ chart รายได้ของแต่ละทีม แปลว่า เราต้องคำนวณรายได้โดยกำหนดหมวดหมู่เป็นทีม ดังนั้น Dimension คือ ทีม
    • Metric
      กำหนด Metric คือ field ที่เป็นค่าคำนวณ จากตัวอย่างข้างบน Metric ก็จะเป็นผลรวมของรายได้ฮะ
    • Sort
      กำหนด field ที่จะเรียงลำดับเพื่อแสดงผลใน chart
    • Filter
      กำหนดเงื่อนไขกรองข้อมูลฮะ เช่น แสดงรายได้ของทีม IT เท่านั้น เป็นต้นฮะ
    • Interaction
      • Apply Filter เลือกตรงนี้ เพื่อให้ chart อื่นที่ใช้ data source เดียวกันถูก update เมื่อผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับ chart นี้
      • Enable sorting เลือกตรงนี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียงลำดับค่าใน chart นี้เองได้
  9. chart style
    ตรงนี้เราสามารถปรับหน้าตา chart ได้ ซึ่งมีตัวเลือกเปลี่ยนไปตามประเภทของ chart ฮะ

ลองสร้างของจริงกัน

1. Pie chart แสดงจำนวนพนักงานแต่ละแผนก

  • เลือก Pie chart
  • เลือก Dimension เป็น department
  • เลือก Metric เป็น id และใช้ CTD (Count Distinct) เพราะต้องการนับจำนวน id ของพนักงานและไม่ซ้ำ
  • เลือก Interaction: Apply filter เพื่อให้ chart ที่เหลือแสดงค่าตาม department ที่คลิกเลือก

2. Table แสดงรายชื่อพนักงานและเงินเดือน

  • เลือก Table
  • เลือก Dimension เป็น id, name, department
  • เลือก Metric เป็น salary และ sum
  • เลือก Show summary row

3. ตกแต่งให้สวยงาม

  • ปรับ Theme เป็นสีดำ (Edge)
  • ปรับ Chart style ให้มีสีต่างๆ กัน และวาง Legend (คำบรรยาย) ไว้ข้างบนของ Pie chart
  • เพิ่ม Text box แสดงข้อความบน chart

Google นี่ Google จริงๆ มีของเล่นที่ใช้งานจริงๆ ได้แถมไม่เสียเงินอีกต่างหาก

ไปลองใช้กันได้นะฮะ เผื่อทำงานไวขึ้น

เจอกันบล็อกหน้าฮะ บาย~